มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นด้านการเกษตร และมีประวัติยาวนานกว่า 85 ปี ได้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะด้านการเกษตรรับใช้ประเทศ มาเป็นเวลาช้านาน และได้สั่งสมองค์ความรู้ด้านการเกษตรจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง มีคณาจารย์และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกรมากมาย

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบัณฑิตด้านการเกษตร เพื่อรองรับนโยบายของประเทศในการเป็นครัวของโลก และนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 แผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2555-2569) จึงได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต” คือการให้ความสำคัญกับการเกษตรเป็นพื้นฐานในการพัฒนา รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม ยึดถือความดีงามเป็นพื้นฐาน  และการก้าวทันและรู้ทันการเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ควรจะได้มีการถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร  ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองแบบยั่งยืนและพอเพียง และโดยที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการให้การศึกษา วิจัย ค้นคว้า สร้างองค์ความรู้ และบริการวิชาการทางการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปในรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลา 85 ปี มีศักยภาพและมีผลงานทางวิชาการด้วยดีตลอดมา การที่สถาบันการศึกษาจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มสมรรถนะ ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย  ภูมิปัญญาของท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวมให้ดียิ่งขึ้นนั้น  มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสร้างเสริมความรู้เทคโนโลยีด้านต่างๆ แก่คนไทย ให้เกิดความรู้และเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยคำนึงว่าบุคคลเหล่านี้เป็นทรัพยากรอันทรงค่ายิ่งของประเทศไทย


ดังนั้น “งานเกษตรแม่โจ้ 85 ปี” จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถสนองต่อแนวความคิดข้างต้นและความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่าย ที่มีแนวคิดในการพัฒนาใกล้เคียงกัน เพื่อร่วมกันพัฒนามหาวิทยาลัย และประเทศชาติให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไปในการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายระยะ 15 ปี ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาออกเป็น 3 ประเด็น (3 Flagships) ได้แก่ 1) มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ (Organic University) 2) มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และ 3) มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco. University)  โดยทั้ง 3 ทิศทางจะดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน ในด้านการเกษตรจะมุ่งเน้นที่เกษตรอินทรีย์ ด้านการพัฒนาด้านจิตใจและองค์ความรู้มุ่งเน้นที่มหาวิทยาลัยสีเขียว และการพัฒนาทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ซึ่งทั้ง 3 ทิศทางนี้มีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน โดยจะบูรณาการทุกภารกิจของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว ทั้งนี้ เป้าหมายในการพัฒนาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่จะร่วมกันพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต มีการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น เพื่อเป็นการฉลองในวาระครบรอบ 85 ปี ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจถึงทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่โจ้และสภามหาวิทยาลัย จึงเห็นสมควรจัดงาน “งานเกษตรแม่โจ้ 85 ปี” ขึ้นในระหว่างวันที่ 8-16 ธันวาคม 2561

วัตถุประสงค์

1)  เพื่อฉลองการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครบรอบ 85 ปี ประวัติศาสตร์   การพัฒนาและการแสดงศักยภาพทางวิชาการเกษตรมุ่งสู่อนาคต ในระดับนานาชาติ
2)  เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ทางการเกษตรที่เหมาะสมแก่ประชาชน เกษตรกร องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (GO Eco University)
3)  เพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างเครือข่าย สร้างความเข้มแข็ง ทั้งในและต่างประเทศ เครือข่ายในการบูรณาการร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยและประเทศชาติโดยเน้นด้านการเกษตร
4)  เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและศิษย์เก่า ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และการปฏิบัติงาน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมงานวันเกษตรแม่โจ้ครบรอบ 85 ปี

 

 กิจกรรมการจัดงาน มี 3 ส่วน

               1. มหาวิทยาลัยแม่โจ้

                    1.1 นิทรรศการ

                    1.2 การสัมมนาและเสวนาทางวิชาการ

                    1.3 แปลงสาธิตและฐานเรียนรู้การเกษตร

               2. ศิษย์เก่า

                3. เครือข่าย (ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน)